ศูนย์พัฒนาเลี้ยงเด็กเฉลิมพระเกียรติ

     

ศูนย์พัฒนาและเลี้ยงเด็กเฉลิมพระเกียรติ มูลนิธิสงเคราะห์เด็กของสภากาชาดไทย

       มูลนิธิฯ จัดตั้งศูนย์พัฒนาและเลี้ยงเด็กเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ซึ่งได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน  พ.ศ.2539  เพื่อเป็นสวัสดิการสำหรับบุคลากรของสภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยรับเลี้ยงดูบุตรของบุคลากรในเวลากลางวัน ขณะที่บิดามารดามาปฏิบัติงาน เพื่อคลายความวิตกกังวลของบิดามารดาในเรื่องการเลี้ยงดูบุตรของตนเองในเวลาปฏิบัติงาน รับเลี้ยงเด็กอายุตั้งแต่ 3 เดือนถึง 4 ปี  โดยมีการดำเนินงานอบรมเลี้ยงดูและจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน ด้วยการบูรณาการผ่านการเล่น ให้เด็กลงมือปฎิบัติและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง  โดยคำนึงถึงพัฒนาการและความแตกต่างระหว่างบุคคล มุ่งเน้นให้เด็กมีสุขภาพดี มีความสุข มีวินัยในตนเอง และมีทักษะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น  ภายใต้บรรยากาศที่อบอุ่น  ปลอดภัย ด้วยความรัก  ความเอื้ออาทรและเอาใจใส่ของผู้ดูแล

อัตลักษณ์ ของเด็ก **สุขภาพดี   มีความสุข**

เอกลักษณ์ ของศูนย์ฯ **อบอุ่น ปลอดภัย ใส่ใจพัฒนาการ  สานสร้างคุณธรรม**

วัตถุประสงค์

         1.เพื่อให้การเลี้ยงดูบุตรของเจ้าหน้าที่สภากาชาดไทยและคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเวลากลางวัน อายุตั้งแต่ 3 เดือน – 4 ปี
          2.เพื่อให้เด็กมีการเจริญเติบโต และพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัยทุกด้านตามศักยภาพของเด็กแต่ละคน ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจสังคม สติปัญญา และมีคุณธรรมจริยธรรมอย่างเหมาะสม และเตรียมพร้อมก่อนเข้าเรียนในสถานศึกษาต่อไปในอนาคต

1.การดำเนินงานด้านการเลี้ยงดูและส่งเสริมพัฒนาการ

1.1 รับฝากเลี้ยงดูบุตรธิดา ของบุคลากรสภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 80 คน/เดือน  โดยเก็บค่าเลี้ยงดูเด็กแบบเหมาจ่ายต่อเดือน ดังนี้
          เด็กอายุ 3 เดือน – 1 ปี     จำนวน 2,200 บาท
          เด็กอายุ 1 ปี – 2 ปี           จำนวน 1,900 บาท  
          เด็กอายุ 2 ปี – 4 ปี           จำนวน 1,700 บาท  
          เด็กห้องเตรียมความพร้อมระดับอนุบาล จำนวน 2,000 บาท

สำหรับบุคคลภายนอก มีอัตราค่าบริการรายเดือน ดังนี้

          เด็กอายุ 3 เดือน –1 ปี             จำนวน 3,300 บาท
          เด็กอายุ 1 ปี – 2 ปี                  จำนวน 2,850 บาท    
          เด็กอายุ 2 ปี – 4 ปี                  จำนวน 2,550 บาท
          เด็กห้องเตรียมความพร้อมระดับอนุบาล  จำนวน 3,000 บาท

หมายเหตุ– กรณีที่ผู้ปกครองนำเด็กมาฝากเลี้ยงที่ศูนย์ฯ ไม่ครบตามเวลาที่กำหนด ผู้ปกครองต้องชำระเงินค่าบริการเลี้ยงดูเด็กเต็มจำนวนตามที่ศูนย์ฯ กำหนด เนื่องจากเป็นค่าบริการแบบเหมาจ่ายต่อเดือน

1.2 การประเมินสุขภาพและพัฒนาการเด็ก

– ตรวจประเมินสุขภาพและพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กทุกราย  โดยใช้แบบประเมินที่ประยุกต์มาจากแบบประเมินสุขภาพเด็กของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และของสาขาวิชาพัฒนาการและการเจริญเติบโต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          -จัดทำสมุดรายงานด้านสุขภาพและพัฒนาการประจำตัวเด็กทุกราย และรายงานให้ผู้ปกครองทราบและให้คำแนะนำผู้ปกครองในรายที่มีปัญหา

1.3 การส่งเสริมทักษะด้านต่างๆ ของเด็ก

          – จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนาทักษะ ด้านร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา คุณธรรมจริยธรรม และความคิดสร้างสรรค์

          – จัดมุมการเรียนรู้ให้เด็กเลือกทำกิจกรรม ได้ตามความสนใจของตนเอง เช่น มุมหนังสือ มุมศิลปะ มุมวิทยาศาสตร์  ฯลฯ

          – จัดกิจกรรมที่สอดแทรกศิลปวัฒนธรรมไทย วันสำคัญหรือเทศกาลต่างๆ  โดยให้เด็กมีส่วนร่วมตามวัย เช่น มรรยาทไทย ไหว้พระ สวดมนต์  เคารพธงชาติ เทศกาลวันสงกรานต์ วันพ่อและวันแม่ เป็นต้น

1.4 การให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงดูและพัฒนาการเด็ก

          – จัดทำบอร์ดประชาสัมพันธ์ ภายในและภายนอกอาคาร ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงดูและส่งเสริมพัฒนาการให้ผู้ปกครองทราบ
          – จัดทำจดหมายข่าวประจำเดือน แจ้งให้ผู้ปกครองให้ทราบในกลุ่มไลน์

1.5 โครงการรับเลี้ยงดูเด็กในช่วงปิดภาคเรียน

– ดำเนินงานปีละ 2 ครั้ง จัดให้มีค่ายภาคฤดูร้อน (มี.ค.- พ.ค.) และค่ายช่วงปิดภาคเรียนกลางปี (ต.ค.) ของทุกปี สำหรับเด็กที่เคยฝากเลี้ยงดูที่ศูนย์ฯ มาก่อน เพื่อให้เด็กได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ระหว่างปิดภาคเรียน และคลายความกังวลของบิดามารดา

1.6 ส่งเสริมโภชนาการเด็ก  จัดอาหารเสริมพิเศษให้มีความหลากหลายพร้อมคุณค่าทางโภชนาการ เพิ่มจากอาหารประจำวัน สัปดาห์ละ 2 วัน ในวันอังคารและวันพฤหัสบดีทุกสัปดาห์

1.7 เพิ่มพูนทักษะพื้นฐานเพื่อให้เด็กมีความพร้อมในการเข้าศึกษาในระดับต่อไป

           –  จัดทำหลักสูตรสถานศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย
           –  จัดทำแผนการสอน และหน่วยการเรียนรู้
           –  จัดทำศูนย์การเรียนรู้เพื่อเสริมประสบการณ์ด้านพัฒนาการ

2.แผนงานด้านสภาพแวดล้อมและความปลอดภัย

 2.1 ตรวจคัดกรองสุขภาพเด็กทุกรายก่อนรับเข้าศูนย์ฯ ประจำทุกวัน และหากเด็กมีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือเจ็บป่วยเป็นโรคที่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ ให้งดนำเด็กมาฝากเลี้ยงที่ศูนย์ฯ
 2.2 กำจัดแหล่งพาหะของโรค เช่น ยุง ฯลฯ  

 2.3 จัดให้บุคลากรของศูนย์ฯ ทุกคน ได้รับการตรวจสุขภาพทุกปี  (ปีละ 1 ครั้ง)

2.4 ตรวจสอบสภาพบำรุงรักษาอาคาร และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพปลอดภัยพร้อมใช้งานรวมทั้งบันไดหนีไฟและอุปกรณ์ดับเพลิงเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ

3.ด้านบริหารจัดการ

3.1 ส่งเสริมความร่วมมือของผู้ปกครองในการดำเนินงานของศูนย์ฯ

– ปฐมนิเทศผู้ปกครองเมื่อแรกรับเด็กเข้าศูนย์ฯ ทุกคน เพื่อชี้แจงระเบียบปฏิบัติของศูนย์ฯ และเมื่อเด็กมีปัญหาเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่ม

– จัดประชุมผู้ปกครองประจำปี เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างบุคลากรของศูนย์ฯ และแบบสอบถามประเมินความพึงพอใจของผู้ปกครอง ปีละ 1 ครั้ง
– มีผู้แทนผู้ปกครองร่วมเป็นกรรมการบริหารและดำเนินงานของศูนย์ฯ
3.2 พัฒนาและปรับปรุงการบริหารงานศูนย์ฯ

– จัดทำแผนดำเนินงานของศูนย์ฯ และงบประมาณรายปี จัดทำสถิติ รายงานผลการดำเนินงานประจำปี

– ประชุมคณะกรรมการบริหารและดำเนินงานของศูนย์ฯ ทุก 3 เดือน หรือวาระพิเศษในกรณีที่มีปัญหาเร่งด่วน เพื่อกำกับดูแลให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนงานและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

4.ด้านบุคลากร

  – ส่งบุคลากรเข้ารับการอบรม สัมมนาหรือศึกษาดูงานในส่วนที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสม

 

5.ด้านการบริการวิชาการแก่สังคม

5.1 จัดโครงการอบรมผู้ดูแลเด็กปฐมวัย 0-6 ปี และโครงการฝึกอบรมการกู้ชีวิตเด็กเบื้องต้นสำหรับพี่เลี้ยงเด็กและบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวกับเด็ก ปีละ 1 ครั้ง  โดยได้รับความร่วมมือจากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิราสภากาชาดไทย และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

5.2 เป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงาน และฝึกงานเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็กและพัฒนาการเด็กสำหรับนักเรียน นิสิต  นักศึกษา จากสถาบันต่างๆ